ข้อบังคับของสมาคมธรรมศาสตร์

หมวด 1 ชื่อและวัตถุประสงค์

ข้อ 1 สมาคมชื่อ “สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” เรียกและเขียนชื่อย่อว่า “สมธ” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thammasat Association”
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ และรัศมีอยู่บนรูปโล่ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญวางบนพานแว่นฟ้า ล้อมด้วยวงกลมรูปธรรมจักรมีชื่อ “สมาคมธรรมศาสตร์” ล้อมรอบ วงกลมภายใต้โล่มีข้อความ “ในพระบรมราชูปถัมภ์”
ข้อ 3 สมาคม ตั้งอยู่เลขที่ 99 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
ข้อ 4 สมาคมมีวัตถุประสงค์

  (1)ส่งเสริมสามัคคีธรรม และผดุงเกียรติของมวลสมาชิก
  (2)ส่งเสริม และเผยแผ่วิทยาการ
  (3)บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
  (4)ส่งเสริมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เจริญก้าวหน้า
  (5)ส่งเสริมสามัคคีธรรม และร่วมมือกับสมาคมในเครือธรรมศาสตร์
  (6)ส่งเสริมกีฬา และบันเทิง ของมวลสมาชิก

วัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวด 2 สมาชิก

ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท

(1) สมาชิกสามัญ ได้แก่

ก. ผู้เคยขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยไปแล้ว
ข. ผู้เป็น หรือเคยเป็นอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ค. ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ง. ผู้สอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมหรือผู้สำเร็จวิชากฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2476

(2) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการของสมาคม เชิญเข้าเป็นสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนคณะกรรมการของสมาคม

(3) สมาชิกสมทบ ได้แก่นักศึกษาปัจจุบันแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อ 6 ผู้สมัครเป็นสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกสมทบ ให้ยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการ เมื่อเลขาธิการตรวจสอบแล้วเห็นว่า บุคคลผู้ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ให้เลขาธิการรับรองใบสมัครนั้นและแจ้งให้ผู้สมัครทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ให้เลขาธิการนำใบสมัครนั้นเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อทราบในโอกาสแรกที่กระทำได้เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการ ค่าธรรมเนียมในการสมัครเป็นสมาชิกให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 3 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 7 สมาชิกมีสิทธิใช้สถานที่ สโมสร สนามกีฬา และอื่นๆ ของสมาคม ตามระเบียบ ที่คณะกรรมการกำหนดไว้
ข้อ 8 สมาชิกมีสิทธิที่จะเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญ และประชุมใหญ่วิสามัญทั้งมีสิทธิขอรับทราบ หรือตรวจดูกิจการ บัญชีการเงิน การทะเบียนของสมาคมได้แต่ต้องยื่นความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน
ข้อ 9 สมาชิกอาจแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือเกี่ยวด้วยกิจการของสมาคมส่งไปยังคณะกรรมการเมื่อไม่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่พอใจในผลแห่งการพิจารณา จะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่คราวต่อไปก็ได้ แต่ต้องยื่นความประสงค์เป็นหนังสือต่อเลขาธิการก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน
ข้อ 10 สมาชิกจะได้รับบัตรประจำตัว ซึ่งออกให้โดยสมาคมตามระเบียบที่คณะกรรมการจะได้กำหนด ในการติดต่อกับสมาคมด้วยตนเอง ให้แสดงบัตรประจำตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกครั้ง ในกรณีที่สมาชิกติดต่อกับสมาคมทางหนังสือ ให้แจ้งชื่อ หมายเลขทะเบียน ให้ทราบด้วย สมาคมจะเรียกบัตรประจำตัวคืน เมื่อสมาชิกผู้นั้นขาดจากสมาชิกภาพ
ข้อ 11 สมาชิกมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  (1) ปฏิบัติตามข้อบังคับ และระเบียบของสมาคม
  (2) รักษาคุณธรรม ความดีงาม และไม่ประพฤติเสื่อมเสียด้วยประการทั้งปวง
  (3) ส่งเสริมและร่วมมือในกิจการของสมาคม

หมวด 4 การขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ 12 สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเมื่อ

  (1) ตาย
  (2) ลาออก
  (3) ถูกลบชื่อจากทะเบียน

  ให้นายทะเบียนโฆษณารายชื่อผู้ที่ขาดจากสมาชิกภาพเป็นคราวๆไป
ข้อ 13 สมาชิกผู้ใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพต้องแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรไปยังเลขาธิการ เมื่อเลขาธิการได้รับแจ้งแล้วให้นำเสนอคณะกรรมการเพื่อทราบ
ข้อ 14 สมาชิกอาจถูกคณะกรรมการมีมติลบชื่อออกจากทะเบียน ในกรณีต่อไปนี้

  (1) กระทำความผิดถึงต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลทั้งนี้ไม่รวมถึงความผิด ลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดทางการเมือง
  (2) ประพฤติตนในทางที่อาจนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม คะแนนเสียงของคณะกรรมการในการลบชื่อสมาชิกต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการของสมาคม
ข้อ 15 สมาชิกผู้ถูกลบชื่อไม่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกอีกจนกว่าจะพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ถูก ลบชื่อ ถ้าคณะกรรมการมีมติไม่ยอมรับผู้นั้นเป็นสมาชิกถึงสองคราวแล้ว ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะขอเป็นสมาชิกอีกต่อไป

หมวด 5 คณะกรรมการ

ข้อ 16 คณะกรรมการของสมาคมประกอบด้วยนายกสมาคม และกรรมการของสมาคม
ข้อ 17 นายกสมาคมต้องได้รับเลือกตั้ง โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่ และดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการสมาคมจากสมาชิกสามัญอีกไม่น้อยกว่า 15 คน และไม่เกิน 30 คน ให้ดำรงตำแหน่งอุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม บรรณกร บรรณรักษ์ ปาฐกถาและโต้วาที ประชาสัมพันธ์ และตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นตามแต่จะเห็นสมควร ถ้าตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง ให้อุปนายกรักษาการแทน ถ้ากรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดนายกสมาคมอาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทน และให้กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงระยะเวลาของผู้ที่ตนแทน คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกสมาคม นายกสมาคมซึ่งได้รับการเลือกตั้งและกรรมการจะต้องรับมอบงานจากนายกสมาคมคนเก่าและกรรมการภายใน 1 เดือน นับแต่วันได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้นายกสมาคมคนเก่าและกรรมการจะต้องส่งมอบงานเมื่อนายกสมาคมคนใหม่และกรรมการแสดงความจำนงจะเข้ารับงาน
ข้อ18 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาจากสมาชิกสามัญอันสมควรแก่ตำแหน่งที่ปรึกษาของสมาคมตามจำนวนที่เห็นสมควร การลงมติแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาของสมาคม ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ กรรมการที่ปรึกษาอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตน กรรมการที่ปรึกษาไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมคณะกรรมการ
ข้อ 19 คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  (1) กำหนดนโยบายของสมาคม และดำเนินงานตามนโยบายนั้น
  (2) ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ของสมาคม
  (3) ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
  (4) ตราระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคม
  (5) แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของสมาคม ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ
  (6) เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ
  (7) การอื่นใดที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของสมาคมตามวัตถุประสงค์
ข้อ 20 คณะกรรมการอาจสั่งตั้งสาขาสมาคมหรืออนุกรรมการหรือผู้แทนของสมาคมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
ข้อ 21 เมื่อนายกสมาคมตั้งกรรมการแล้ว ให้จดทะเบียนภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง
ข้อ 22 นายกสมาคมจะให้กรรมการเจ้าหน้าที่ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งที่แต่งตั้งและตั้งกรรมการอื่นแทนก็ได้ กรรมการเจ้าหน้าที่ที่พ้นจากตำแหน่งยังคงเป็นกรรมการของสมาคมอยู่
ข้อ 23 กรรมการออกจากตำแหน่งโดยลาออกหรือขาดจากสมาชิกภาพต้องรักษาการอยู่จนกว่าจะมีกรรมการใหม่มารับหน้าที่ และให้กรรมการใหม่เข้ารับงานภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง
ข้อ24 นายกสมาคมมีอำนาจ และหน้าที่ควบคุมกิจการของสมาคมให้ดำเนินไปตามระเบียบข้อบังคับและมติของคณะกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งบังคับบัญชาลงโทษ ถอดถอนพนักงานของสมาคม
ข้อ 25 นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมทุกประเภท ถ้านายกสมาคมไม่อยู่ ให้อุปนายกสมาคมเป็นประธานแทน ในกรณีที่นายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ให้เลขาธิการสมาคมเป็นประธานแทน
ข้อ 26 เลขาธิการของสมาคม หรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมเป็นเลขานุการในที่ประชุมทุกประเภท มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการประชุม จัดระเบียบวาระการประชุม บันทึกรายงานการประชุมเก็บไว้เป็นหลักฐาน และงานอื่นใด ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการตำแหน่งต่างๆ ตามที่นายกสมาคมมอบหมาย หากเลขาธิการสมาคม หรือผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมไม่อยู่ ให้นายกสมาคมตั้งกรรมการอื่นปฏิบัติหน้าที่แทน
ข้อ 27 ให้นายกสมาคมเรียกประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกๆ 3 เดือน
ข้อ 28 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการ จึงจะถือเป็นองค์ประชุม
ข้อ 29 นอกจากจะได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานมีคะแนนเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด การลงคะแนนเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการนั้นให้ใช้วิธียกมือ แต่ถ้ากรรมการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร้องขอให้ลงคะแนนลับ ก็ให้ประธานถามที่ประชุม และให้ที่ประชุมคณะกรรมการลงมติว่าจะมีการลงคะแนนเสียงลับ หรือไม่
ข้อ 30 กรรมการ 1 ใน 3 ของคณะกรรมการมีสิทธิขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญ และรีบด่วนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคม ให้นายกสมาคมเรียกประชุมคณะกรรมการตามคำขอ โดยนัดหมายให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน

หมวด 6 การเงินและการบัญชี

ข้อ 31 คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน และบัญชี ในการนี้ต้องจัดให้มี

  (1) บัญชีแสดงจำนวนเงินที่สมาคมได้รับ และจ่าย ทั้งรายการอันเป็นเหตุให้ได้รับหรือจ่ายเงินทุกรายการ
  (2) บัญชีแสดงจำนวน และมูลค่าของทรัพย์สิน และหนี้สินของสมาคม
  (3) การสำรองเงินไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ประจำปี
ข้อ 32 เหรัญญิกมีหน้าที่รับจ่ายเงินของสมาคม จัดทำและเก็บรักษาบัญชีตาม ข้อ 31 พร้อมด้วยใบสำคัญ และหลักฐานแสดงการรับและจ่าย ทำงบแสดงฐานะการเงิน ให้เหรัญญิกจัดทำงบแสดงฐานะการเงินทุกเดือน และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทุกครั้งที่มีการประชุม
ข้อ 33 เหรัญญิกเก็บรักษาเงินสดไว้ได้ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนที่เกินให้นำฝากธนาคารที่คณะกรรมการกำหนดในวันทำการรุ่งขึ้น ในนามของสมาคม
ข้อ 34 การลงนามในเช็คเพื่อจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคมหรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมกับเหรัญญิกลงนามร่วมกัน
ข้อ 35 ให้เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของสมาคม ตลอดจนการบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ 36 การซื้อหรือจำหน่ายทรัพย์สินของสมาคม ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ 37 ให้วันที่ 30 กันยายน เป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีประจำของสมาคม คณะกรรมการต้องจัดทำงบแสดงฐานะทางการเงินของสมาคมที่ผ่านการตรวจสอบของ ผู้สอบบัญชีแล้ว เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ทุกรอบระยะเวลาบัญชี
ข้อ 38 ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งผู้สอบบัญชี และที่ประชุมใหญ่เป็นผู้กำหนดสินจ้างผู้สอบบัญชี ต้องมิใช่กรรมการหรือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการของสมาคม ในกรณีที่ตำแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลงระหว่างปีให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชีแทน ผู้สอบบัญชีคนใหม่ อยู่ในตำแหน่งเพียงระยะเวลาของผู้ที่ตนแทน

หมวด 7 การประชุมใหญ่

ข้อ 39 คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้ง ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ครบรอบปีการบัญชี
ข้อ 40 คณะกรรมการต้องแจ้งวันนัดประชุมให้สมาชิกทราบก่อนหน้าการประชุมไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยวิธีการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 วิธี
  (1) ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง
  (2) ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง
  (3) ส่งหนังสือถึงสมาชิกทุกคนโดยทางไปรษณีย์
  (4) วิธีอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ
ข้อ 41 ให้นายกสมาคม ปิดประกาศสำเนางบแสดงฐานะการเงิน ไว้ ณ ที่ทำการสมาคม ก่อนหน้าการประชุมใหญ่สามัญไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 42 การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิก ซึ่งมีสิทธิ์ออกเสียง มาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 43 ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
  (1)เลือกตั้งนายกสมาคม และผู้สอบบัญชี
  (2)พิจารณางบแสดงฐานะการเงินของสมาคม
  (3)พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการนำขึ้นปรึกษา
  (4)พิจารณาข้อเสนอของสมาชิกซึ่งยื่นไว้ตามข้อบังคับนี้
ข้อ 44 สมาชิกสามัญมีสิทธิลงคะแนนเสียงคนละหนึ่งเสียง การออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะแต่งตั้งตัวแทนมิได้ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
ข้อ 45 การออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ให้ใช้วิธียกมือ เว้นแต่สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกในที่ประชุม ร้องขอให้ลงคะแนนลับก็ให้จัดให้มีการลงคะแนนลับ
ข้อ 46 คณะกรรมการอาจเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ สมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน อาจร้องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องนั้น
ข้อ 47 มติที่ประชุมใหญ่ให้ถือตามเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด
ข้อ 48 การประชุมใหญ่เพื่อแก้ข้อบังคับ จะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน มติให้แก้ข้อบังคับต้องมีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม ให้คณะกรรมการส่งร่างข้อบังคับที่แก้ไข พร้อมทั้งเหตุผลไปยังสมาชิกโดยทางไปรษณีย์ล่วงหน้าก่อนวันกำหนดวันประชุมใหญ่ ไม่น้อยกว่า 15 วัน ในกรณีที่สมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามวรรคหนึ่ง หากแต่ว่ามีสมาชิกใช้สิทธิลงคะแนนเสียงล่วงหน้าก่อนวันประชุมใหญ่ เห็นชอบตามร่างข้อบังคับที่แก้ไขทั้งฉบับไม่น้อยกว่า 70 คน ให้ถือว่าร่างข้อบังคับที่แก้ไขดังกล่าวได้รับมติความเห็นชอบให้แก้ไขได้

หมวด 8 เบ็ดเตล็ด

ข้อ 49 หากสมาคมต้องเลิกไปตามกฎหมายและมีทรัพย์สินของสมาคมคงเหลืออยู่ให้ตกเป็นของมูลนิธิธรรมศาสตร์ หากมูลนิธิธรรมศาสตร์ได้เลิกไปก่อนก็ให้ตกเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ผู้ชำระบัญชี จัดการชำระบัญชี และโอนทรัพย์สินดังกล่าวภายใน 6 เดือน นับแต่วันเลิกสมาคม
ข้อ 50 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2552 เป็นต้นไป